พระพุทธเจ้า
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือ พระพุทธเจ้า เป็นพระสมัญญานามที่ใช้เรียกพระบรมศาสดาของศาสนาพุทธ พระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายเถรวาทและมหายานต่างนับถือพระพุทธเจ้าว่าเป็นศาสดาของตนเหมือนกันแต่รายละเอียดปลีกย่อยต่างกัน ฝ่ายเถรวาทให้ความสำคัญกับพระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันคือ "พระโคตมพุทธเจ้า" ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระองค์ที่ 4 ในภัทรกัปนี้ และมีกล่าวถึงพระพุทธเจ้าในอดีตกับในอนาคตบ้างแต่ไม่ให้ความสำคัญเท่า ฝ่ายมหายานนับถือพระพุทธเจ้าของฝ่ายเถรวาททั้งหมดและเชื่อว่านอกจากพระพุทธเจ้า 28 พระองค์[1] ที่ระบุในพุทธวงศ์ของพระไตรปิฎกภาษาบาลีแล้ว ยังมีพระพุทธเจ้าอีกมากมายเพิ่มเติมขึ้นมาหลังจากตำนานของเถรวาท
ผู้ปรารถนาจะเป็นพระพุทธเจ้าต้องบำเพ็ญบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ก่อน เมื่อบารมีเต็มแล้วจึงจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในชาติสุดท้าย พระพุทธเจ้าทุกพระองค์มีลักษณะพิเศษตรงกันคือ[2] เป็นมนุษย์เพศชายเกิดในวรรณะกษัตริย์หรือพราหมณ์ พระวรกายสมบูรณ์ด้วยมหาปุริสลักขณะ ก่อนออกผนวชจะอภิเษกสมรสมีพระโอรสพระองค์หนึ่ง หลังจากนั้นทรงพบเทวทูตทำให้ตัดสินใจออกผนวช วันออกผนวชจะตรงกับวันเพ็ญเดือนวิสาขะ
คัมภีร์พุทธศาสนาทั้งนิกายเถรวาทและนิกายมหายานบันทึกตรงกันว่า พระโคตมพุทธเจ้าประสูติ 623 ปี ก่อนคริสต์ศักราช พระองค์ทรงดำรงพระชนมชีพอยู่ระหว่าง 80 ปีก่อนพุทธศักราช จนถึงเริ่มพุทธศักราชซึ่งเป็นวันปรินิพพาน ตรงกับ 543 ปี ก่อนคริสตกาลตามตำราไทยซึ่งอ้างอิงปฏิทินสุริยคติไทยและปฏิทินจันทรคติไทย และตรงกับ 483 ปีก่อนคริสตกาลตามปฏิทินสากล
ความหมายและคุณลักษณะ
ในพระพุทธศาสนา พุทธะ (บาลี: พุทฺธ แปลว่า "ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน") หมายถึงบุคคลผู้ตรัสรู้อริยสัจ 4 แล้วอย่างถ่องแท้
ธชัคคสูตร กล่าวว่าพระพุทธเจ้ามีคุณลักษณะ 9 ประการ[3] เรียกว่า พุทธคุณ 9 ได้แก่
- อรหํ หมายถึง ผู้ปราศจากกิเลส
- สมฺมาสมฺพุทฺโธ หมายถึง ผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์
- วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน หมายถึง ผู้มีความรู้และความประพฤติถึงพร้อม
- สุคโต หมายถึง ผู้เสด็จไปด้วยดี
- โลกวิทู หมายถึง ผุ้รู้แจ้งโลก
- อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ หมายถึง ผู้ฝึกคนได้ดี ไม่มีผู้ใดเทียมเท่า
- สตฺถา เทวมนุสฺสานํ หมายถึง ศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
- พุทฺโธ หมายถึง ผู้ตื่น
- ภควา หมายถึง ผู้มีภคธรรม
พระสมัญญา
มีหลายคำดังจะกล่าวต่อไปนี้
- พระโพธิสัตว์ หมายถึง ท่านผู้ที่กำลังบำเพ็ญ บารมี 10 (โดยยิ่งยวด 30 ทัศ) คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขา และ จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า
- อังคีรส หมายถึง ท่านผู้มีรัศมีแผ่ออกมาจากพระกาย
- มหาบุรุษ เป็นคำที่ใช้เรียก พระพุทธเจ้าก่อนตรัสรู้ อีกความหมายหนึ่งคือ บุรุษผู้ยิ่งใหญ่
- ตถาคต ผู้ไปแล้วอย่างนั้น เป็นคำที่พระพุทธเจ้าตรัสถึงพระองค์เองมี
- ธรรมราชา หมายถึง ท่านผู้เป็นราชาแห่งธรรม
- ธรรมสวามิศร, ธรรมสามิสร หมายถึง ท่านผู้เป็นใหญ่โดยเป็นเจ้าของธรรม
- ธรรมสามี หมายถึง ท่านผู้เป็นเจ้าของธรรม
- ธรรมิศราธิบดี หมายถึง ท่านผู้เป็นอธิปดีในธรรม เป็นคำกวีหมายถึงพระพุทธเจ้า
- ภควา แปลว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า
- พระศาสดา พระบรมศาสดา พระบรมครู หมายถึง ท่านผู้ทรงสอนชนทั้งปวง
- พระสัมพุทธเจ้า, พระสัมมาสัมพุทธเจ้า, พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า, สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หมายถึง พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ
- มหาสมณะ
- พระโลกนาถ หมายถึง พระผู้เป็นที่พึ่งแห่งโลก
- สยมภู หมายถึง ท่านผู้ตรัสรู้ได้โดยตนเอง ไม่มีใครมาสั่งสอน
- สัพพัญญู หมายถึง ท่านผู้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง
- พระสุคต หมายถึง ท่านผู้เสด็จไปดีแล้ว
ในคติเถรวาท
ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีกล่าวว่า ในภัทรกัปนี้มีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นแล้ว 4 พระองค์ พระพุทธเจ้าพระองค์ปัจจุบันเป็นองค์ที่ 4 และพระพุทธเจ้าพระองค์ถัดไปคือพระศรีอริยเมตไตรย ในทัศนะเถรวาทถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ธรรมดา แต่ที่เหนือกว่าคนทั่วไปคือพระองค์พบทางดับทุกข์ได้ด้วยพระองค์เอง และเผยแผ่หนทางนั้นต่อสรรพสัตว์ ทรงเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ เมื่อทรงดับขันธปรินิพพาน คือดับไปโดยไม่เหลือเชื้อใด ๆ ผู้จะเป็นพระพุทธเจ้าต้องทำความดี (บารมี) มาในชาติก่อน ๆ นับชาติไม่ถ้วน (ก่อนที่จะเป็นพระพุทธเจ้าเรียกว่าพระโพธิสัตว์)
การประสูติของพระพุทธเจ้า
พระโพธิสัตว์ผู้ที่จะจุติจากสวรรค์ชั้นดุสิตลงมาตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น ก่อนจะจุติจะทรงพิจารณา 5 อย่าง เรียกว่า มหาวิโลกนะ 5[4] คือ
- 1. กาล (อายุขัยของมนุษย์)
อายุขัยของมนุษย์ขึ้นอยู่กับกระแสสังขารและการทำความดี หากทำดีมากขึ้นอายุก็จะเพิ่มขึ้น หากทำดีน้อยอายุขัยก็จะลดลง อายุขัยของมนุษย์อยู่ระหว่าง 10 ปีถึง 1 อสงไขยปี (1 × 10140 ปี) แต่พระโพธิสัตว์ทรงเลือกอายุขัยมนุษย์ระหว่าง 100-100,000 ปี ถ้าหากน้อยกว่า 100 ปีมนุษย์จะมีจิตใจหยาบช้าเกินกว่าจะฟังธรรมให้แตกจนบรรลุพระนิพพานได้ ถ้าเกิน 100,000 ปีมนุษย์จะเริ่มประมาทความแก่ ความเจ็บ ความตายเพราะอายุยืนความตายมาถึงช้า จะไม่เห็นอริยสัจ 4 หรือธรรมใดๆ
- 2. ทวีป (ทวีปที่จะลงมาประสูติ)
พระโพธิสัตว์เลือกชมพูทวีปเป็นทวีปที่จะจุติทุกครั้ง เพราะมนุษย์ในชมพูทวีปมีทั้งความสุขและความทุกข์ มีความเห็นทุกข์ เห็นสุข ได้ดีกว่ามนุษย์ในทวีปอื่นๆ
สาเหตุอีกอย่างที่เลือกลงมามนุษยภูมิเพราะมนุษย์เห็นสุขทุกข์ได้ง่ายที่สุด สัตว์ในอบายภูมิ 4 มีแต่ความทุกข์ไม่เห็นสุขกระจ่าง เทวดาพรหมก็เห็นสุขมากกว่าทุกข์จนยากที่จะทำให้เป็นพระอรหันต์ได้ อีกทั้งมนุษย์ทำบุญได้ จึงทรงเลือกมนุษย์
- 3. ประเทศ (ประเทศที่จะประสูติ)
พระโพธิสัตว์จะทรงเลือกประเทศที่มีความเจริญรุ่งเรือง เศรษฐกิจดี มีประชากรหนาแน่น มีนักปราชญ์ เจ้าสำนัก เป็นที่รวมของการศึกษาและศิลปวิทยามากมาย มีผู้มีคุณธรรมมากมาย จะสามารถเผยแพร่ธรรมให้รุ่งเรือง มีคนรู้มากได้
- 4. ตระกูล (ตระกูลที่จะประสูติ)
พระโพธิสัตว์ทรงเลือกได้ระหว่าง วรรณะกษัตริย์ กับ วรรณะพราหมณ์ ว่าในช่วงเวลานั้นตระกูลใดเจริญมากกว่ากัน ได้รับการยอมรับมากกว่ากัน ใน 4 อสงไขยแสนมหากัปล่าสุดนี้มีพระพุทธเจ้าจากตระกูลกษัตริย์มากกว่า แต่ในภัทรกัปนี้มีพระพุทธเจ้าจากตระกูลพราหมณ์มากกว่า (พระกกุสันธะ พระโกนาคมณ์ พระกัสสปะ และพระเมตไตรยะ) มีเพียงพระโคตมพุทธเจ้าเพียงพระองค์เดียวที่มาจากตระกูลกษัตริย์
พระโพธิสัตว์ผู้ได้มาจุติเป็นพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้ ทรงเลือกตระกูลศากยโคตมวงศ์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์นคร เพราะได้รับความนับถือมาก และบริสุทธิ์มา 7 รุ่นแล้ว ถ้าไม่บริสุทธิ์แล้วลงมาจุติแล้วเป็นพระพุทธเจ้าก็ยากที่จะได้รับการนับถือ สาเหตุที่เลือกตระกูลกษัตริย์เพราะในช่วงเวลานั้นมีการแบ่งชนชั้นวรรณะกัน และวรรณะกษัตริย์เป็นวรรณะที่มีคนนับถือมากที่สุด จึงทรงเลือกวรรณะกษัตริย์
- 5. มารดา (มารดาผู้ให้กำเนิดและกำหนดอายุของพระมารดาหลังประสูติ)
พระโพธิสัตว์จะทรงเลือกผู้หญิงจากตระกูลกษัตริย์หรือพราหมณ์ที่รักษาศีล รักษาธรรมได้ดีที่สุด บริสุทธิ์ทางกาย วาจา ใจ ไม่ดื่มสุรา ไม่หลงในอบายมุข ไม่โลเลในบุรุษ และทรงกำหนดอายุของพระมารดาว่ามีประมาณเท่าใด เพราะพระครรภ์ที่ประทับแห่งพระโพธิสัตว์ผู้จะได้เสด็จอุบัติตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เปรียบประดุจพระคันธกุฎีแห่งพระบรมศาสดา ไม่สมควรแก่ผู้อื่น
พระบรมโพธิสัตว์ทรงเลือกพระมารดาที่บริสุทธิ์ไม่แปดเปื้อนมลทินโทษ มิฉะนั้นจะยากแก่การเผยแผ่ศาสนา เพราะจะถูกโจมตีว่ามารดาของพระศาสดาไม่บริสุทธิ์ พระนางสิริมหามายาได้อธิษฐานเป็นพระพุทธมารดามาแต่อดีตกาล เมื่อประสูติพระบรมโพธิสัตว์เจ้าได้ 7 วันก็เสด็จทิวงคต ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรสถิตในดุสิตเทวโลก ตามประเพณี พระพุทธมารดาไม่ได้เป็นหญิงอย่างเก่า ที่เกิดเป็นหญิงเพราะอธิษฐานขอเป็นมารดาพระพุทธเจ้า
ประเภทของพระพุทธเจ้า
ในพระไตรปิฎกภาษาบาลีกล่าวถึงพระพุทธเจ้าไว้ 2 ประเภท[5] คือ
- พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง แล้วประกาศพระศาสนา
- พระปัจเจกพุทธเจ้า คือพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้เฉพาะตน ไม่ได้ประกาศพระศาสนา
ต่อมาในคัมภีร์มโนรถปูรณี อรรถกถาของอังคุตตรนิกาย พระพุทธโฆสะได้กล่าวถึงพุทธะทั้งหมด 4 ประเภท อีกประเภท 2 ประเภทที่เพิ่มเข้ามา[6] คือ
- จตุสัจจพุทธเจ้า คือพระอรหันตสาวก
- สุตพุทธเจ้า คือผู้เป็นพหูสูต ได้ศึกษาพระพุทธพจน์มามาก
ประเภทของพระพุทธเจ้าโดยการบำเพ็ญบุญบารมี
นอกจากนั้นพระพุทธเจ้ามีอยู่ 3 ประเภทตามกำลังบุญบารมีที่ได้สร้างสั่งสมมาคือ
- พระปัญญาธิกพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าที่ทรงสร้างสมอบรมบารมีด้าน “ปัญญา” อย่างแก่กล้าแต่มีพระศรัทธาน้อย จึงใช้เวลาสั่งสมบารมีน้อยกว่าพระพุทธเจ้าอีกสองประเภท ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการสร้างบารมีเป็นเวลา 20 อสงไขยกับอีกหนึ่งแสนมหากัป เช่น พระโคตมพุทธเจ้า
- พระสัทธาธิกพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าที่ทรงสร้างสมอบรมบารมีด้าน “ศรัทธา” อย่างแก่กล้ายิ่งนัก แต่มีพระปัญญาปานกลาง จึงใช้เวลาสั่งสมพระบารมีอย่างปานกลาง ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการสร้างบารมีเป็นเวลา 40 อสงไขย กับอีกหนึ่งแสนมหากัป เช่น พระกัสสปพุทธเจ้า
- พระวิริยาธิกพุทธเจ้า คือ พระพุทธเจ้าที่ทรงสร้างสมอบรมบารมีด้าน “ความเพียร” อย่างแก่กล้า ทรงมีพระวิริยะยิ่งนัก แต่ทรงมีพระปัญญาน้อยกว่า ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการสร้างบารมียาวนานมากกว่าพระพุทธเจ้าประเภทอื่นเป็นเวลา 80 อสงไขย กับอีกหนึ่งแสนมหากัป เช่น พระศรีอริยเมตไตรย
พระพุทธเจ้าในอดีต
พระพุทธเจ้าในอนาคต
ในคัมภีร์อนาคตวงศ์นั้น ได้กล่าวถึงพระพุทธเจ้าในอนาคต 10 พระองค์ที่จะบังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ดังนี้ [7]
- พระเมตไตรยพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือพระอชิตภิกษุ (เป็นคนละองค์กับพระอชิตเถระที่ปรากฏในพระไตรปิฎก) ตรัสรู้ที่ไม้กากะทิง พระชนมายุ 8 หมื่นพรรษา พระกายสูง 80 ศอก
- พระรามสัมพุทธเจ้า ในอดีตคือพระราม ตรัสรู้ที่ไม้แก่นจันทน์ พระชนมายุ 9 หมื่นพรรษา พระกายสูง 80 ศอก
- พระธรรมราชาสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือพระเจ้าปเสนทิโกศล ตรัสรู้ที่ไม้กากะทิง พระชนมายุ 5 หมื่นพรรษา พระกายสูง 16 ศอก
- พระธรรมสามีสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือท้าววสวัตตี ตรัสรู้ที่ไม้สาละใหญ่ พระชนมายุ 1 แสนพรรษา พระกายสูง 80 ศอก
- พระนารทสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือพระราหู ตรัสรู้ที่ไม้จันทน์ พระชนมายุ 1 หมื่นพรรษา พระกายสูง 20 ศอก
- พระรังสีมุนีสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือโสณพราหมณ์ ตรัสรู้ที่ไม้ดีปลีใหญ่หรือไม้เลียบ พระชนมายุ 5 พันพรรษา พระกายสูง 60 ศอก
- พระเทวเทพสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือสุภพราหมณ์ ตรัสรู้ที่ไม้จำปา พระชนมายุ 8 หมื่นพรรษา พระกายสูง 80 ศอก
- พระนรสีหสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือโตเทยยพราหมณ์ ตรัสรู้ที่ไม้แคฝอย พระชนมายุ 8 หมื่นพรรษา พระกายสูง 60 ศอก
- พระติสสสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือช้างนาฬาคีรี ตรัสรู้ที่ไม้ไทร พระชนมายุ 8 หมื่นพรรษา พระกายสูง 80 ศอก
- พระสุมังคลสัมพุทธเจ้า ในสมัยพุทธกาลคือช้างปาลิไลยกะ ตรัสรู้ที่ไม้กากะทิง พระชนมายุ 1 แสนพรรษา พระกายสูง 60 ศอก
พระพุทธเจ้าตามความเชื่อของฝ่ายมหายาน
นิกายมหายานยอมรับพระพุทธเจ้าตามคัมภีร์ฝ่ายเถรวาททั้งหมดและยังสร้างพระพุทธเจ้าอีกมากมาย ทั้งที่เป็นมนุษย์และมีสถานะเหมือนเทพเจ้าในศาสนาฮินดู นิกายมหายานเชื่อว่าเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานไปแล้วไม่ดับสูญแต่ไปประทับ ณ พุทธเกษตรซึ่งเป็นดินแดนที่งดงามกว่าสวรรค์ พระพุทธเจ้าตามคติมหายานแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ
- อาทิพุทธะ ถือว่าเป็นพระพุทธเจ้าที่อุบัติมาพร้อมกับโลกและประทับอยู่กับโลกเป็นนิรันดร์ มีบทบาทคล้ายพระพรหมในศาสนาฮินดูที่เป็นผู้สร้างโลกและจักรวาล
- พระมานุสสพุทธะ เป็นพระพุทธเจ้าที่อวตารมาจากอาทิพุทธะมาเกิดในโลกมนุษย์และบำเพ็ญเพียรในฐานะพระโพธิสัตว์จนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เมื่อปรินิพพานแล้วจะไปอยู่กับอาทิพุทธะ คล้ายกับคติของศาสนาฮินดูที่เมื่อทำความดีถึงขั้นสูงสุดจะกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของมหาพรหม พระพุทธเจ้าองค์ปัจจจุบัน ทางมหายานเรียกว่าพระศากยมุนีพุทธเจ้า เป็นพระมานุสสพุทธะด้วยเช่นกัน
- พระธยานิพุทธะ เป็นพุทธะที่อวตารมาจากอาทิพุทธะเช่นกันแต่สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าด้วยอำนาจฌาน (ธยาน) ของอาทิพุทธะไม่ได้ผ่านการบำเพ็ญเพียรในโลกมนุษย์ พุทธะเหล่านี้ประทับบนสวรรค์ ในสภาวะกายทิพย์ มีเฉพาะพระโพธิสัตว์ที่มองเห็นได้
- พระพุทธเจ้าอื่นๆ เช่น พระสัทธรรมวิทยาตถาคต พระไภษัชยคุรุทั้ง 7 พระสหัสประภาราชาศานติสถิตยตตถาคต พระประภูตรัตนะ
จำนวนของพระพุทธเจ้า
ในคัมภีร์ของทางมหายานนั้นได้ระบุนามของพระพุทธเจ้าไว้เป็นจำนวนมาก มีทั้งพระพุทธเจ้า 35 พระองค์ พระพุทธเจ้า 53 พระองค์ และที่มากที่สุดคือพระพุทธเจ้า 3,000 พระองค์ โดยแบ่งเป็น [8]
- พระพุทธเจ้าในกัปอดีตซึ่งระบุนามไว้ในคัมภีร์อดีตสมัยอลังการกัลป์สหัสพุทธนามสูตร 1,000 พระองค์ เริ่มจากพระปุณฑริกประภาพุทธเจ้าเป็นองค์แรกจนถึงพระเวศภูพุทธเจ้าเป็นองค์สุดท้าย
- พระพุทธเจ้าในกัปปัจจุบันซึ่งระบุนามไว้ในคัมภีร์ปัจจุบันสมัยภัทรกัลป์สหัสพุทธนามสูตร 1,000 พระองค์ เริ่มจากพระวิปัสสีพุทธเจ้าเป็นองค์แรกจนถึงพระรุจิพุทธเจ้าเป็นองค์สุดท้าย ซึ่งพระรุจิพุทธเจ้านี้ปัจจุบันคือพระเวทโพธิสัตว์
- พระพุทธเจ้าในกัปอนาคตซึ่งระบุนามไว้ในคัมภีร์อนาคตสมัยนักษัตรกัลป์สหัสพุทธนามสูตร 1,000 พระองค์ เริ่มจากพระสูรยประภาพุทธเจ้าเป็นองค์แรกจนถึงพระสุเมรุลักษณ์พุทธเจ้าเป็นองค์สุดท้าย
แหล่งข้อมูลอื่น
- แหล่งเผยแพร่พระพุทธศาสนาให้แก่ชาวโลก | บทสวดมนต์ | เรื่องธรรมะ
- พระพุทธเจ้า ในสายตานักปราชญ์โลก
- ลานธรรม: พุทธประวัติ
- ธรรมะไทย: พระพุทธเจ้า 25 พระองค์ ที่พระโคดมพุทธเจ้าทรงพบ
- พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย อปทาน ภาค 2 พุทธวงศ์
- อรรถกถา อัปปฏิวัทิตสูตร
- เถราปทาน พุทธวรรค ปัจเจกพุทธาปทาน
ประสูติ
พระพุทธเจ้ามีพระนามเดิมว่า "สิทธัตถะ" เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ กษัตริย์ผู้ครองกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ทางภาคใต้ของประเทศเนปาล พระราชมารดาทรงพระนามว่า "พระนางสิริมหามายา" ซึ่งเป็นพระราชธิดาของกษัตริย์ราชสกุลโกลิยวงศ์แห่งกรุงเทวทหะ แคว้นโกลิยะ
เจ้าชายสิทธัตถะประสูติเมื่อ 80 ปีก่อนพุทธศักราช ที่สวนลุมพินีวัน ณ ใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งอยู่ระหว่างพรมแดนกรุงกบิลพัสดุ์และกรุงเทวทหะ(ปัจจุบันคือ ต.รุมมินเด ประเทศเนปาล) ได้มีพราหมณ์ทั้ง 8 ได้ทำนายว่า เจ้าชายสิทธัตถะมีลักษณะเป็นมหาบุรุษ คือ ถ้าดำรงตนในฆราวาสจะได้เป็นจักรพรรดิ ถ้าออกบวชจะได้เป็นศาสดาเอกของโลก แต่โกณฑัญญะพราหมณ์ผู้อายุน้อยที่สุดในจำนวนนั้น ยืนยันหนักแน่นว่า พระราชกุมารสิทธัตถะจะเสด็จออกบวชและจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน
ทันทีที่ประสูติ ทรงดำเนินด้วยพระบาท 7 ก้าว มีดอกบัวผุดรองรับ ทรงเปล่งพระวาจาว่า "เราเป็นเลิศที่สุดในโลก ประเสริฐที่สุดในโลก การเกิดครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายของเรา"
วัยเด็ก
หลังประสูติได้ 7 วัน พระนางสิริมหามายาสิ้นพระชนม์ จึงทรงอยู่ในความดูแลของพระนางปชาบดีโคตมี ซึ่งเป็นพระกนิษฐาของพระนางสิริมหามายาพระบิดาไม่ประสงค์จะให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นศาสดาเอก จึงพยายามให้สิทธัตถะพบแต่ความสุขทางโลก เช่น สร้างปราสาท 3 ฤดู และเมื่ออายุ 16 ปี ได้ให้เจ้าชายสิทธัตถะอภิเษกกับนางพิมพาหรือยโสธรา ผู้เป็นพระธิดาของพระเจ้ากรุงเทวทหะซึ่งเป็นพระญาติฝ่ายพระมารดา
ศึกษาเล่าเรียนจนจบระดับสูงของการศึกษาทางโลกในสมัยนั้น คือ ศิลปศาสตร์ถึง 18 ศาสตร์ ในสำนักครูวิศวามิตร
เมื่อมีพระชนมายุ 29 ปี พระนางพิมพาก็ให้ประสูติ ราหุล (บ่วง)
เสด็จออกผนวช
เมื่อทอดพระเนตรเห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณตามลำดับ จึงทรงคิดว่าชีวิตของทุกคนต้องตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ จึงเกิดแนวความคิดว่า "ธรรมดาในโลกนี้มีของคู่กันอยู่ เช่น มีร้อนก็ต้องมีเย็น , มีทุกข์คือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ต้องมีที่สุดทุกข์ คือ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย"
ทรงเห็นความสุขทางโลกเป็นเพียงมายา ความสุขในกามคุณเป็นความสุขจอมปลอม เป็นเพียงภาพมายาที่ ชวนให้หลงว่าเป็นความสุขเท่านั้น ในความจริงแล้วไม่มีความสุข ไม่มีความเพลิดเพลินใดที่ไม่มีความทุกข์เจือปน
วิถีทางที่จะพ้นจากความทุกข์ของชีวิตเช่นนี้ได้ หนทางหลุดพ้นจากวัฏสงสาร จะต้องสละเพศผู้ครองเรือนเป็นสมณะ
สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงพบเห็นเรียกว่า "เทวทูต(ทูตสวรรค์)" จึงตัดสินพระทัยทรงออกผนวช ในวันที่พระราหุลประสูติเล็กน้อย พระองค์ทรงม้ากัณฐกะออกผนวช มีนายฉันทะตามเสด็จ โดยมุ่งตรงไปที่แม่น้ำอโนมานที ทรงตัดพระเกศา และเปลี่ยนเครื่องทรงเป็นผ้ากาสาวพักตร์ (ผ้าย้อมด้วยรสฝาดแห่งต้นไม้) ทรงเปลื้องเครื่องทรงมอบให้นายฉันนะนำกลับพระนคร การออกบวชครั้งนี้เรียกว่า การเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (การเสด็จออกเพื่อคุณอันยิ่งใหญ่)
หลังจากทรงผนวชแล้ว จึงทรงมุ่งไปที่แม่น้ำคยา แคว้นมคธ เพื่อค้นคว้าทดลองในสำนักอาฬารดาบส กาลามโครตร และอุทกดาบส รามบุตร เมื่อเรียนจบทั้งสองสำนัก (บรรลุฌาณชั้นที่แปด) ก็ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ตามที่มุ่งหวังไว้
จากนั้นจึงเสด็จไปที่แม่น้ำเนรัญชรา ในตำบลอุรุเวลาเสนานิคม (ปัจจุบันนี้สถานที่นี้เรียกว่า ดงคศิริ) เมื่อบำเพ็ญทุกรกิริยา โดยขบฟันด้วยฟัน กลั้นหายใจและอดอาหาร หลังจากทดลองมา 6 ปี ก็ยังไม่พบทางพ้นทุกข์ จึงทรงเลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา หันมาบำรุงพระวรกายโดยปกติตามพระราชดำริว่า "เหมือนสายพิณควรจะขึงพอดีจึงจะได้เสียงที่ไพเราะ" ซึ่งพระอินทร์ได้เสด็จลงมาดีดพิณถวาย พิณสายหนึ่งขึงไว้ตึงเกินไป พอถูกดีดก็ขาดผึงออกจากกัน จึงพิจารณาเห็นทางสายกลางว่า เป็นหนทางที่จะนำไปสู่พระโพธิญาณได้ ระหว่างที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์ (โกญฑัญญะ วัปปะ ภัททิยา มหานามะ อัสสชิ) มาคอยปรนนิบัติพระองค์โดยหวังว่าจะทรงบรรลุธรรมวิเศษ เมื่อพระองค์เลิกบำเพ็ญทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์จึงหมดศรัทธา พากันไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี (ต.สารนาถ)
ตรัสรู้
พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ เวลารุ่งอรุณ ในวันเพ็ญเดือน 6 ( เดือนวิสาขะ) ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี
นางสุชาดาได้นำข้าวมธุปายาสเพื่อไปบวงสรวงเทวดา ครั้นเห็นพระมหาบุรุษประทับที่โคนต้นอชปาลนิโครธ (ต้นไทร)ด้วยอาการอันสงบ นางคิดว่าเป็นเทวดา จึงถวายข้าวมธุปายาส แล้วพระองค์เสด็จไปสู่ท่าสุปดิษฐ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ทรงวางถาดทองคำบรรจุข้าวมธุปายาสแล้วลงสรงสนานชำระล้างพระวรกาย แล้วทรงผ้ากาสาวพัสตร์อันเป็นธงชัยของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ หลังจากเสวยแล้วพระองค์ทรงจับถาดทองคำขึ้นมาอธิษฐานว่า " ถ้าเราจักสามารถตรัสรู้ได้ในวันนี้ ก็ขอให้ถาดทองคำใบนี้จงลอยทวนกระแสน้ำไป แต่ถ้ามิได้เป็นดังนั้นก็ขอให้ถาดทองคำใบนี้จงลอยไปตามกระแสน้ำเถิด " แล้วทรงปล่อยถาดทองคำลงไปในแม่น้ำ ถาดทองคำลอยตัดกระแสน้ำไปจนถึงกลางแม่น้ำเนรัญชราแล้วลอยทวนกระแสน้ำขึ้นไปไกลถึง 80 ศอก จึงจมลงตรงที่กระแสน้ำวน ในเวลาเย็นพระองค์เสด็จกลับมายังต้นโพธิ์ที่
ประทับ คนหาบหญ้าชื่อโสตถิยะได้ถวายหญ้าปูลาดที่ประทับ ณ ใต้ต้นโพธิ์ พระองค์ประทับหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก และทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า " แม้เลือดในกายของเราจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตาม ถ้ายังไม่บรรลุธรรมวิเศษแล้ว จะไม่ยอมหยุดความเพียรเป็นอันขาด " เมื่อทรงตั้งจิตอธิษฐานเช่นนั้นแล้ว พระองค์ก็ทรงสำรวมจิตให้สงบแน่วแน่ มีพระสติตั้งมั่น มีพระวรกายอันสงบ มีพระหทัยแน่วแน่เป็นสมาธิบริสุทธิ์ผุดผ่องปราศจากกิเลส ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อนโยน เหมาะแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ทรงน้อมพระทัยไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ( ญาณเป็นเหตุระลึกถึงขันธ์ที่อาศัยในชาติปางก่อนได้ )ในปฐมยามแห่งราตรี ต่อจากนั้นทรงน้อมพระทัยไปเพื่อจูตุปาตญาณ ( ญาณกำหนดรู้การตาย การเกิดของสัตว์ทั้งหลาย ) ในมัชฌิมยามแห่งราตรี ต่อจากนั้นทรงน้อมพระทัยไปเพื่ออาสวักขยญาณ ( ญาณหยั่งรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวกิเลสทั้งหลาย) คือทรงรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา นี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา เมื่อทรงรู้เห็นอย่างนี้ จิตของพระองค์ก็ทรงหลุดพ้นจากกามสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วพระองค์ก็ทรงรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ทรงรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป นั่นคือพระองค์ทรงบรรลุวิชชาที่ 3 คือ อาสวักขยญาณ ในปัจฉิมยาม แห่งราตรีนั้นเอง ซึ่งก็คือการตรัสรู้พระสัพพัญญุตญาณ เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า จากการที่พระองค์ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาอย่างยิ่งยวด พระองค์ทรงตรัสรู้ในวันเพ็ญเดือน 6 ปีระกา ขณะพระชนมายุได้ 35 พรรษา นับแต่วันที่สด็จออกผนวชจนถึงวันตรัสรู้ธรรม รวมเป็นเวลา 6 ปี
ปรินิพพาน
องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จโปรดสัตว์และแสดงพระธรรมเทศนา ตลอดระยะเวลา 45 พรรษา ขณะนั้นพระองค์ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุคาม ใกล้เมืองเวลาสี แคว้นวัชชี ทรงปลงอายุสังขารว่า อีก 3 เดือนข้างหน้าจะปรินิพพาน โดยก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน 1 วัน พระองค์ได้เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะทำถวาย เกิดอาพาธลงพระโลหิต พระพุทธองค์เกรงว่านายจุนทะถูกกล่าวโทษ จึงตรัสว่า "บิณฑบาตที่มีอนิสงส์ที่สุด มี 2 อย่าง คือ เมื่อตถาคต(พุทธองค์) เสวยบิณฑบาตแล้วตรัสรู้ และเมื่อเสวยแล้วปรินิพพาน"
และ มีพระพุทธดำรัสว่า "ธรรมและวินัยอันที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว"
พระพุทธเจ้าทรงประชวรหนัก แต่ทรงอดกลั้นมุ่งหน้าไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อปรินิพพาน โดยก่อนที่จะเสด็จดับขันธปรินิพพานนั้น พระองค์ได้อุปสมบทแก่ พระสุภัททะปริพาชก ซึ่งถือได้ว่า "พระสุภัททะ" คือ สาวกองค์สุดท้ายที่พระองค์ทรงบวชให้ ท่ามกลางคณะสงฆ์ทั้งที่เป็นพระอรหันต์ และปุถุชนจากแคว้นต่างๆ รวมทั้งเทวดา ที่มารวมตัวกันในวันนี้
ในคราวนั้น พระองค์ทรงมีปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอบอกเธอทั้งหลาย ว่า สังขารทั้งปวงมี ความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา พวกเธอจึงทำประโยชน์ ให้สมบูรณ์ ด้วยความไม่ประมาทเถิด"
จากนั้น ได้เสด็จดับขันธปรินิพพาน ใต้ต้นสาละ ณ สาลวโนทยาน ของเหล่ามัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ ในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 รวมพระชนม์ 80 พรรษา
วันนี้ถือเป็นการเริ่มต้นของพุทธศักราช
ปัจจุบันเรียกว่า "วันวิสาขบูชา"
0 Comments :
Post a Comment